วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การพัฒนาอย่างยั่งยืน

นโยบายเปิดเสรีรับการลงทุนการค้าต่างประเทศมีทั้งข้อดีและข้อด้อย
      นโยบายการ พัฒนาประเทศที่เน้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจากการลงทุนและการค้ากับต่าง ประเทศอธิบายว่า เนื่องจากไทยเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกหรือส่วนหนึ่งในกระบวนโลกาภิวัตน์  คนไทยจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องใช้นโยบายเปิดเสรีต้อนรับการลงทุนและการค้าจากต่างชาติ  และพยายามแข่งขันให้ชนะเขา
      ความที่แนวคิด นี้แพร่หลายมากจนทำให้คนทั่วไปรับรู้ทางเดียว และเข้าใจว่าการพัฒนาประเทศมีหนทางเดียวคือทางนี้เท่านั้น   แต่นี่เป็นเพียงแนวคิดการพัฒนาแนวหนึ่งที่เผยแพร่และครอบงำโดยชนชั้นนำจาก ประเทศมหาอำนาจ ที่ชนชั้นนำไทยส่วนใหญ่เห็นด้วย เนื่องจากพวกเขาล้วนได้รับการศึกษาแนวตะวันตกและเพราะมีผลประโยชน์ร่วมด้วย     แนวคิดนี้เป็นแนวคิดแบบสุดโต่งที่มองแต่ด้านผลดีของการเปิดเสรีเพียงด้าน เดียว   ทั้งที่การเปิดเสรีเร็วเกินไปหรือมากเกินไปมีผลเสียต่อประชาชนไทยส่วนใหญ่ ซึ่งยังอ่อนแอ ไม่พร้อมที่จะแข่งขันแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาในตอนนี้ได้
      แม้แต่คำว่าโลกาภิวัตน์  (Globalization) ก็ถูกใช้ในความหมายทางบวกอย่างสุดโต่ง เหมือนกับเป็นความทันสมัยที่ทุกประเทศทุกคนควรมุ่งไปสู่ แต่คำนี้ความจริงมีความหมายเพียงแค่กระบวนการที่ระบบการผลิตการค้าแบบทุน นิยมอุตสาหกรรมขยายตัวข้ามชาติได้อย่างเสรีในลักษณะเดียวกันทั่วโลก  ทำให้เศรษฐกิจประเทศต่าง ๆ มีความสัมพันธ์พึ่งพาลงทุนและค้าขายกันมากขึ้น  เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกที่ขึ้นอยู่กับบริษัททุนข้ามชาติ ขนาดใหญ่ 500 แห่งมากขึ้น
      กระบวนการโลกาภิวัตน์ จึงมีทั้งผลดีและผลเสีย  ไม่ได้มีแต่ผลดีด้านเดียว  เราสามารถวิพากษ์หรือแม้แต่คัดค้านโลกาภิวัตน์อย่างสุดโต่ง และเสนอการพัฒนาทางเลือกอื่น ๆ เช่น  การพัฒนาแบบพึ่งตนเอง  (เศรษฐกิจพอเพียง)  การพัฒนาเพื่อความสุขประชาชาติ และเพื่อความยั่งยืนเป็นด้านหลัก โดยที่ยังคงมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศต่าง ๆ ในระดับที่จำเป็นได้
      การที่รัฐบาล ไทยมีนโยบายเปิดเสรีทางการลงทุนและการค้าอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว มีทั้งผลดีและผลเสียสำหรับประชาชนส่วนใหญ่  ในฐานะที่เราเป็นประเทศที่พัฒนาทุนนิยมทีหลังและเป็นทุนนิยมด้อยพัฒนาหรือทุนนิยมบริวาร การเปิดเสรี (โดยเฉพาะการทำสัญญาเปิดเสรีทางการค้าระหว่าง 2 ประเทศ คือ ไทยกับประเทศที่เศรษฐกิจใหญ่กว่า มากเกินไปหรือเร็วเกินไป จะทำให้ไทยในฐานะประเทศที่เล็กกว่า มีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจน้อยกว่า และโดยเฉพาะในสาขาเกษตร  สาขาอุตสาหกรรมขนาดกลางขนาดย่อมที่ประชาชนส่วนใหญ่ของไทยยังมีประสิทธิภาพ และอำนาจต่อรองต่ำกว่าประเทศคู่สัญญาที่ใหญ่โตกว่า จะทำให้ประชาชนไทยเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ มากกว่าจะได้ประโยชน์
ควรเปิดเสรีอย่างมีจังหวะก้าวและคำนึงถึงประโยชน์ประชาชนส่วนใหญ่
      จริงอยู่ที่ การเปิดประเทศก็มีส่วนที่ดีอยู่ด้วยเช่นกัน แต่น่าจะเป็นการเปิดเสรีในระดับที่เหมาะสม  ให้ต่างชาติมาลงทุนหรือค้าขายในสินค้าที่เรายังทำไม่เป็น  หรือไม่เก่งพอ หรือที่เราขาดแคลน  จำเป็นต้องใช้ เพื่อทำให้เรามีโอกาสเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่  มีโอกาสลงทุนได้มากขึ้น  เร็วขึ้น  มีสินค้าและบริการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีการศึกษาเพื่อประเมินผลดี ผลเสีย สำหรับคนส่วนใหญ่อย่างรอบคอบ
      โดยเฉพาะเมื่อ ข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้ากับบางประเทศให้ผลดีสำหรับคนบางกลุ่ม เช่น  นายทุนอุตสาหกรรม  รถยนต์  ธุรกิจโทรคมนาคม และให้ผลเสียสำหรับคนกลุ่มอื่น เช่น เกษตรกร จะต้องมีการชั่งน้ำหนักในระดับประเทศอย่างรอบคอบโดยคิดถึงผลประโยชน์ของคน ส่วนใหญ่เป็นหลัก สมมุติว่าชั่งน้ำหนักแล้ว ประเทศจะได้ประโยชน์มากกว่าก็จะต้องเพิ่มการเก็บภาษีจากธุรกิจที่ได้ ประโยชน์มาจุนเจือช่วยเหลือธุรกิจที่เสียประโยชน์
      ก่อนอื่น  ประเทศ ไทยจะต้องรู้จักตัวเองว่ามี จุดแข็ง จุดอ่อนอะไร รู้จักการต่อรองและเปิดให้มีการลงทุน และการค้าขายกับต่างชาติในขอบเขต และในลักษณะที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นจริงของประเทศ และเป็นการเปิดรับการลงทุนและการค้าที่มุ่งให้ประโยชน์กับคนส่วนใหญ่มากกว่า เพื่อประโยชน์ของทุนต่างชาติ และทุนขนาดใหญ่ฝ่ายเดียว
      เวทีองค์การ ค้าโลกและเวทีเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ  เป็นเรื่องของการผลักดันและการต่อรองกันอยู่ตลอดเวลา การที่รัฐบาลอ้างกับประชาชนว่า เราถูกเขาบีบบังคับให้เปิดเสรีเหมือนกับประเทศอื่น ๆ ทุกประเทศเป็นเรื่องไม่จริง เพราะจริง ๆ แล้ว แต่ละประเทศก็ต่อรองเรื่องการเปิดเสรีทางการค้า (และการลงทุน)  อย่างมีขอบเขต มีจังหวะขั้นตอน รัฐบาลที่คำนึงผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ จะต้องรู้จักต่อรองเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนในประเทศ มากกว่าจะ รีบร้อนเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนแบบเหมารวม ซึ่งอำนวยประโยชน์ต่อบริษัทยักษ์ใหญ่ทุนข้ามชาติและบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย มากกว่าประโยชน์ของประชาชนไทยส่วนใหญ่
การสร้างชุมชนและประเทศให้เข้มแข็ง
      แม้ว่าทิศทาง ใหญ่ของการพัฒนาเศรษฐกิจโลก คือ การเรียกร้องผลักดันให้ทุกประเทศต้องเปิดเสรีทางการค้า การลงทุนเพิ่มขึ้นตามลำดับ แต่ละประเทศก็ยังมีเวลา  มีจังหวะขั้นตอนที่จะต่อรองเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนอยู่ไปได้อีกระยะหนึ่ง โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาซึ่งอ้างได้ว่า การรีบเปิดประเทศเร็วเกินไปจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศตนซึ่งเสียเปรียบประเทศ ร่ำรวยอยู่แล้วต้องเสียเปรียบเพิ่มขึ้น
      ดังนั้นสิ่ง ที่จะต้องรีบทำ คือ เราจะต้องส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน เข้มแข็งพอที่จะแข่งขันรับมือกับการเปิดเสรีทางการลงทุนการค้าที่จะมาถึงใน อนาคต  ได้ดีกว่าการรีบเปิดเสรีในสภาพที่เรายังอ่อนแอและไม่พร้อม 
      ปัจจัยที่จะช่วยให้ชุมชน (ทั้งในชนบทและในเมือง) เข้มแข็ง
      1)  มีประชาชนที่มีความรู้และจิตสำนึกเพื่อสังคมส่วนรวม
           ความรู้ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง ความรู้ที่ได้มาจากระบบโรงเรียนเท่านั้น หากเป็นความรู้จากครอบครัว, ชุมชนสื่อสารมวลชนและสภาพแวดล้อมทั่วไป ที่ประเทศควรส่งเสริมให้ประชาชนได้สนใจและมีโอกาสศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง ได้อย่างสะดวกโดยเสียค่าใช้จ่ายต่ำ โดยเฉพาะความรู้ในการที่จะพัฒนาตนเองและสังคมได้  ด้านหนึ่งควรวิจัย รื้อฟื้นและประยุกต์ใช้ใหม่ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย อีกด้านหนึ่งคือการวิจัยและเผยแพร่ความรู้สมัยใหม่จากประเทศต่าง ๆ อย่างวิเคราะห์  วิพากษ์วิจารณ์  รู้จักการนำความรู้ที่เป็นสากลมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพของประเทศไทย ไม่ใช่การท่องจำ ลอกเลียนแบบตะวันตกมาทั้งคุ้น
               การจัดการศึกษาในปัจจุบันที่เน้นความรู้ทางวิชาชีพ  เพื่อหางานที่จะได้ผลตอบแทนสูงสุด มีข้อจำกัดว่า ทำให้เกิดการแข่งขันแบบแพ้คัดออก ดังนั้นถึงประเทศจะคัดได้คนเก่งคนฉลาดส่วนน้อย พวกเขาก็มีแนวโน้มจะเก่งแบบปัจเจกชน แต่ทำงานทีมเวริคทำงานร่วมกับคนอื่นไม่เก่งหรือคิดและทำเพื่อตัวเองมากกว่า เพื่อส่วนรวม เราควรจัดการศึกษาและสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ให้ประชาชนมีความรู้แบบใช้งาน ได้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทางด้านอารมณ์ (EQ) และจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม คือฉลาดมีวุฒิภาวะทางอารมณ์เข้าใจความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันช่วยเหลือ ผู้อื่น  ไม่เอาตัวรอดตามลำพังด้วย  จึงจะเป็นความรู้คู่กับจิตสำนึกที่ช่วยให้ชุมชนเข้มแข็งได้
      2)  ประชาชนมีปัจจัยการผลิต เช่น ที่ดินและทุนทรัพย์ของตนเอง หรือสามารถ เช่า เช่าซื้อ ได้โดยใช้ต้นทุนไม่สูงเกินไป  ปัจจัยการผลิตเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการประกอบอาชีพและพัฒนาตนเอง การกระจายปัจจัยการผลิตและทรัพย์สินให้เป็นธรรมเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่จะ ช่วยให้การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม เป็นจริงได้อย่างยั่งยืน
      การที่รัฐบาล ยังไม่ได้ปฏิรูปด้านโครงสร้างเศรษฐกิจ เช่น ปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูประบบภาษีอากรและการคลัง ฯลฯ  และได้แต่ใช้วิธีกระจายการให้สินเชื่อไปสู่ชนบทไม่ใช่วิะการที่จะสร้างความ เข้มแข็งให้ชุมชนได้เป็นเพียงการกระจายรายได้ระยะสั้นและการสร้างหนี้เพิ่ม ขึ้นมากกว่า
      3)  ชุมชนมีทรัพยากร  โครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค สาธารณสุขและการจัดตั้งองค์กรของชุมชน 
             ชุมชนที่ยังมีป่าไม้เหลือ  หรือมีแหล่งน้ำ มีสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ดี มีความสามัคคี มีการรวมกลุ่มองค์กรช่วยเหลือกันทางเศรษฐกิจ  เช่น   กลุ่มเกษตรกร  กลุ่มออมทรัพย์สหกรณ์  ย่อมมีโอกาสพัฒนาได้มากกว่า  หรืออีกนัยหนึ่งคือ  เข้มแข็งกว่าชุมชนที่ขาดแคลนสิ่งเหล่านี้ เพราะการพึ่งพากันอย่างเสมอภาคและการร่วมมือกัน จะทำให้ปัจเจกชนทำงานได้ผลดียิ่งขึ้น ดังนั้นแนวนโยบายพัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรมแบบสุดโต่ง  อาจยิ่งเป็นการทำลายให้ชุมชนอ่อนแอลง
      4)  มีการกระจายทรัพย์สินและรายได้  การศึกษา  ฐานะทางสังคม  ในหมู่สมาชิกของชุมชนอย่างเป็นธรรม ไม่มีการผูกขาดใช้อำนาจบาตรใหญ่ การค้ากำไรเกินควร มีความเป็นเครือญาติ หรือความสามัคคี ช่วยเหลือกันค่อนข้างดี  เป็นประชาธิปไตย
      นี่คือสิ่งที่ ควรรักษาไว้หรือรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่  แต่ระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบแสวงอำนาจ ผลประโยชน์จากส่วนกลางมักเข้าไปทำลายมากกว่าจะสนับสนุนจึงควรปรับแนวคิดใน เรื่องนี้เสียใหม่
      5)  เป็นชุมชนที่สมาชิกมีความตื่นตัวเป็นพลเมืองดี  ดูแลช่วยเหลือกันไม่ให้คนในชุมชนติดยาเสพย์ติด  เหล้า การพนัน อบายมุขต่าง ๆ ฯลฯ ซึ่งเป็นช่องทางที่จะทำให้ชีวิตคนตกต่ำลง และชุมชนอ่อนแอ
      ชุมชนเป็น ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้  ซึ่งต่างจากวิธีคิดของรัฐบาลที่เน้นแต่เรื่องกฎหมาย การเพิ่มตำรวจ การแก้ปัญหาแบบราชการรวมศูนย์สั่งการจากบนลงล่าง
     การรื้อฟื้นและพัฒนาภูมิปัญญาดั้งเดิมเพื่อสร้างให้ชุมชนเข้มแข็ง
           ภูมิปัญญา  (Wisdom) หมายถึง ความรู้ ความคิด ความเชื่อ ความสามารถ  ความจัดเจน  ของแต่ละกลุ่มชนทางวัฒนธรรมที่ได้จากการเรียนรู้การปรับตัว  และการมีประสบการณ์  ในการดำรงชีพ  และพัฒนาตนเองและสังคม  จะเรียกว่า  ความรู้แบบองค์รวมในการแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมก็ได้
     ปัจจุบันเรา กล่าวถึงใช้ “ภูมิปัญญาไทย” ในฐานะที่เป็นการพัฒนาทางเลือกที่ต่างไปจากแนวทางการพัฒนาแบบทุนนิยม อุตสาหกรรมตะวันตกมากขึ้น แต่คำว่า “ภูมิปัญญาไทย” ในที่นี้  ควรมองในแง่เป็นลักษณะทางสังคมวัฒนธรรมของคนไทยจากอดีตถึงปัจจุบันที่มีการ ผสมผสานจากกลุ่มชาติพันธุ์และวัฒนธรรมต่าง ๆ หลากหลาย  ไม่ควรมองอย่างแคบ ๆ เรื่องชาติพันธุ์  หรือวัฒนธรรมแบบบริสุทธิ์  ซึ่งไม่ได้มีอยู่จริง  และการมองแบบแคบ ๆ อาจทำให้เกิดอคติ,  ความหลงชาติได้ ดังนั้นถ้าจะเรียนกว่าภูมิปัญญาท้องถิ่น แทนภูมิปัญญาไทยก็น่าจะได้ 
     การจะพัฒนา ภูมิปัญญาให้เกิดประโยชน์สูงสุดในยุคปัจจุบัน น่าจะอยู่ที่การรู้จักประยุกต์ใช้ทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาของที่อื่น ๆ รวมทั้งวิทยาการตะวันตก (ที่กลั่นกรองแล้ว) ให้เกิดประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน
     การรื้อฟื้นและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในยุคปัจจุบัน 
      มีประเด็นที่เราน่าจะเรียนรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างน้อย 3 ประเด็นคือ
           1.  ความรู้ความสามารถในการดำรงชีพและพัฒนาอารยธรรมของชาวไทยตั้งแต่พันปีที่แล้ว ใน ยุคก่อนที่เราจะรับเศรษฐศาสตร์และวัฒนธรรมทุนนิยมตะวันตก มาเป็นตัวกำหนดค่านิยมและทิศทางการพัฒนาสังคมไทยในปัจจุบัน  คนไทยมีภูมิปัญญาในการรู้จักการทำมาหากินแบบเกษตรเพื่อยัง ชีพอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติและสภาพแวดล้อมทางสังคม เช่น รู้จักทำการเกษตรแบบผสมผสาน  มีพันธ์พืชหลากหลายชนิดที่เหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่นและความหลากหลายช่วย ป้องกันโรคระบาด  มีระบบชลประทานท้องถิ่น ใช้ปุ๋ยอินทรีย์และสมุนไพรปราบศัตรูพืช ฯลฯ
           คนในสมัย ก่อนปลูกพืช เลี้ยงปลาไก่ ฯลฯ หลากชนิด ซึ่งนอกจากจะใช้ประโยชน์ได้หลายทางแบบเกื้อกูลกันแล้ว ในแง่ของการผลิตไม่เสี่ยงมาก เมื่อพืชผลชนิดใดชนิดหนึ่งเสียหายก็ยังมีพืชชนิดอื่น ๆ ได้กินอยู่  โรคภัยก็น้อยด้วย  นี่คือ  ภูมิปัญญาของเศรษฐกิจพอเพียงหรือพึ่งตนเองได้เป็นหลัก  สิ่งใดที่ขาดแคลนก็เอาของที่มีเหลือเฟือไปแลกเปลี่ยนกันกับคนอื่นหรือหมู่ บ้านอื่น  ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนเพื่อประโยชน์ใช้สอยมากกว่าการค้าเพื่อหวังกำไรอย่าง ในยุคการพัฒนาแบบทุนนิยม การผลิตแบบเกษตรพึ่งตนเองนี้ทำเพื่อพอกินมากกว่าเพื่อหวังขายให้ร่ำรวย จึงไม่ได้ทำลายธรรมชาติ  หรือ กดขี่แรงงานคนมากเท่ากับการผลิตยุคทุนนิยมที่เน้นการผลิตเพื่อขายหากำไร
      2. คนไทยสมัยก่อนเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเข้ามา ไม่ได้ยึดความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ส่วนตัวอย่างเคร่งครัด แต่มองเรื่องการแบ่งปัน การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การใจกว้าง  ความยุติธรรมเป็นเรื่องสำคัญ  ดังจะเห็นได้ว่า การแลกเปลี่ยนในชนบทสมัยก่อนนั้น เป็นการแลกเปลี่ยนเพื่อประโยชน์ใช้สอยแบบฉันท์เพื่อน  ฉันท์ญาติ คือ แลกกันง่าย ๆ ให้พอสมน้ำสมเนื้อ ไม่ได้คิดเล็กคิดน้อยอย่างละเอียดลออแบบมุ่งหากำไรกันทุกบาททุกสตางค์  คนไทยสมัยก่อนนิยมการแลกสินค้าต่อสินค้าโดยไม่ต้องใช้เงินเป็นสื่อกลางด้วย ซ้ำ  การช่วยเหลือเอาแรงกัน ก็เป็นแบบง่าย ๆ การให้ความช่วยเหลือคนจนกว่า ขาดแคลนกว่า เป็นเรื่องของความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่ทำกันเป็นปกติ เพราะคนส่วนใหญ่อยู่ในสังคมหมู่บ้านที่คนเป็นเครือญาติและเพื่อนฝูง มีความเป็นกันเองและปฏิบัติต่อกันแบบมีน้ำจิตน้ำใจ ถ้ามองในแง่ของการพัฒนาทางสังคม  ก็ถือได้ว่า คนสมัยก่อนมีการพัฒนาทางสังคมที่มีคุณภาพมากกว่าคนยุคปัจจุบัน
           3. คนไทยสมัยก่อนการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมตะวันตก รู้จักใช้เทคโนโลยีการผลิตและการบริโภคแบบเรียบง่าย แต่มีปัญญา  เน้นความกลมกลืน ความสมดุลของธรรมชาติ  คนสมัยก่อนโดยเฉพาะระดับหมู่บ้านยังมองว่า  ชีวิตเป็นองค์รวมของการทำมาหากิน และการชื่นชมกับชีวิต  การดูแลครอบครัว เครือญาติ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน การทำบุญสุนทาน  การหาความสนุกจากการละเล่นและศิลปวัฒนธรรม  คนไทยสมัยก่อนไม่ได้มองเรื่องการทำมาหากิน  หรือเศรษฐกิจแบบแยกส่วน  ไม่ได้มีค่านิยม เน้นการแข่งขันกันหาเงิน การแสวงหาบริโภคสูงสุดแบบตัวใครตัวมันเหมือนคนในยุคทุนนิยมอุตสาหกรรม  แต่มองเศรษฐกิจเพียงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่มีหลายด้าน คือ มีด้านทางสังคมและวัฒนธรรมด้วย
           คนไทย สมัยก่อนดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่ สัตว์ใหญ่ รักษาน้ำได้ดี พวกเขาเห็นว่าเป็นสิ่งที่มีบุญคุณ  จึงสร้างให้เป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์  มีข้อห้าม ขนบธรรมเนียมพิธีเกี่ยวข้องกับธรรมชาติมาก  หากมองแนววิทยาศาสตร์แบบทื่อ ๆ ก็อาจคิดว่าคนไทยสมัยก่อนล้าสมัย เชื่ออะไรงมงาย  แต่ถ้าเรามองในแง่สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาอย่างใจกว้าง เราจะเห็นได้ว่าคนสมัยก่อนอยู่กับธรรมชาติและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้ดี กว่าคนในยุคทุนนิยมอุตสาหกรรมที่ความโลภบดบังตา คือพวกเขารู้จักพัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainable)  ในสมัยที่ยังไม่ได้มีการใช้ศัพท์คำนี้กัน
      ถึงคนปัจจุบัน จะมีความรู้สมัยใหม่เกี่ยวกับเรื่องการไม่ควรทำลายธรรมชาติ  แต่บ่อยครั้งที่ความโลภ  ความต้องการหาเงินทอง  การบริโภคสูงสุดบดบังตา  ทำให้พวกเขาไม่ได้สนใจ ไม่ได้เอาใจใส่เรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติเหมือนคนสมัยก่อน ซึ่งเขาเอาใจใส่ขนบธรรมเนียม ประเพณี ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ช่วยให้สังคมอยู่รอดมาได้ตลอด  ขณะที่ความรู้ใหม่ ๆ แบบตะวันตกที่คนไทยปัจจุบันพยายามเรียนรู้  กลายเป็นเพียงเครื่องมือให้คนกลุ่มน้อยที่ร่ำรวยใช้เอาเปรียบคนส่วนใหญ่และ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติมากกว่า
      การรื้อฟื้นและประยุกต์ใช้ในสังคมสมัยใหม่
           เราน่าจะกลับไปศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นทั้งทางด้านเศรษฐกิจ  สังคม วัฒนธรรม เช่น เศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจแบบชาวพุทธ  ที่เน้นการบริโภคพอประมาณ และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  เกษตรและสาธารณสุขทางเลือก เช่น การทำเกษตรแบบอินทรีย์ การบริโภคอาหารพื้นบ้าน และสมุนไพรที่เป็นประโยชน์ การใช้พลังงานทางเลือก ฯลฯ และนำมาประยุกต์ใช้ในสังคมยุคใหม่ของไทยอย่างจริงจัง เพราะน่าจะเป็นทางเลือกของการพัฒนาที่ดีกว่าทุนนิยมอุตสาหกรรมเพื่อการบริ โภค พึ่งการค้าการลงทุนจากต่างชาติเป็นสัดส่วนสูง แนวทางพัฒนาแบบสร้างปัญหาทางการเมืองสังคม และการเป็นหนี้มากเกินไป สร้างความไม่สมดุลและความขัดแย้งระหว่างคนรวยและคนจนเพิ่มขึ้น การแก่งแย่งแข่งขันชิงดีชิงเด่น เอารัดเอาเปรียบ ทุจริตฉ้อฉล ยาบ้าระบาด ฯลฯ
      การรื้อฟื้น และประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นต้องมองอย่างวิพากษ์วิจารณ์ เลือกส่วนที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทยสมัยใหม่ที่เรามีประชากรมากขึ้น มีทรัพยากรลดลง  และรู้จักนำมาประยุกต์ใช้ควบคู่ไปกับความรู้ที่เป็นสากลใน โลกปัจจุบัน การกล่าวถึงภูมิปัญญาไทยแบบหวนหาอดีตอาจไม่สอดคล้องกับความจริง เพราะประชากรเพิ่มขึ้นสูงกว่าเมื่อ 50 – 100 ปี ที่แล้วมาก ทรัพยากร เช่น ป่าไม้ลดลงไปมาก และคนยุคปัจจุบันต้องเรียนรู้และใช้ชีวิตสัมพันธ์กับคนต่างชาติต่างวัฒนธรรม มากกว่าก่อน แต่ก็อยู่ในวิสัยที่จะรู้จักเลือกและพัฒนาภูมิปัญญาและจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม ในการจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ในประเทศไทยยุคใหม่ อย่างมุ่งให้เกิดทั้งประสิทธิภาพ เป็นธรรม  และอย่างยั่งยืนคู่ขนานกันไป ได้
      ปัญหาคือ ทางการกล่าวถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น  เช่น เศรษฐกิจพอเพียง สาธารณสุขทางเลือก เกษตรทางเลือก เหมือนเป็นเพียงส่วนย่อย ๆ เป็นโครงการย่อย ๆ แต่แนวนโยบายใหญ่ในการพัฒนาประเทศทั้งประเทศยังคงเน้นเรื่องการพัฒนา อุตสาหกรรมแบบมุ่งทำลายทรัพยากรเพื่อกอบโกยผลกำไรของภาคเอกชนเป็นด้านหลัก
      การจะสร้างชุมชนให้เข้มแข็งได้ต้องปฏิรูปทางโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองของประเทศด้วย
      เนื่องจากคนใน ชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ การเมืองของประเทศต้องสัมพันธ์กับระบบการเมืองที่ภาครัฐมีอำนาจบทบาทสูง  สัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจแบบตลาดและระบบการศึกษา สื่อสารมวลชน และสภาพแวดล้อมทางสังคมอื่น  ที่มีบทบาทต่อสมาชิกในชุมชนสูง และหลายเรื่องเป็นสิ่งที่ขัดแย้งและหรือบั่นทอนความเข้มแข็งของชุมชน
      ดังนั้นการจะ พัฒนาให้ชุมชนเข้มแข็งได้อย่างแท้จริง จึงจะต้องคิดไกลถึงการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคมด้วย จึงจะสามารถจัดให้มีกระจายสิทธิอำนาจทางการเมืองและสังคม  สู่ประชาชนส่วนใหญ่ได้ การจะทำเช่นนั้นข้อสำคัญคือ ต้องหาวิธีการทำให้ภาครัฐคือนักการเมืองและราชการเล็กลง  ภาคสังคมประชาคือองค์กรประชาชนต่าง ๆ เข้ม แข็งขึ้น ทำให้กระบวนการติดสินใจทางการเมืองเป็นประชาธิปไตยแบบประชาชนมีส่วนร่วมมาก ขึ้น ทำให้เศรษฐกิจเกิดการพัฒนาที่สมดุล การแข่งขันที่เป็นธรรม ทำให้สังคมเกิดภูมิปัญญาและวัฒนธรรมในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้ อย่างมีประสิทธิภาพ  และสันติวิธี  เพิ่มขึ้น  
      นั่นก็คือการ หายุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพในทุก ๆ ด้าน  ไม่ใช่เน้นแต่การพัฒนาทางวัตถุแบบทุนนิยมผูกขาดที่ถึงจะสร้างความเจริญเติบ โตทางเศรษฐกิจโดยรวมได้แค่ไหน ก็จะเป็นเพียงการพัฒนาที่อยู่แต่ในกรอบของคนรวยส่วนน้อยได้เปรียบคนจนส่วน ใหญ่
      มาตรการในการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคม เพื่อสร้างชุมชนและประเทศให้เข้มแข็งควรประกอบไปด้วย
      1) ปฏิรูปเศรษฐกิจ การบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อสร้างความเป็นธรรม ประสิทธิภาพและการพัฒนาอย่างยั่งยืน 
      ระดมกำลังของ ทั้งทางภาครัฐ  องค์กรอิสระ องค์กรมหาชน เช่น  สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  รัฐสภา ภาคธุรกิจเอกชนและองค์กรประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน  สมาคมวิชาชีพต่าง ๆ เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างวิพากษ์วิจารณ์และ สร้างสรรค์ เพื่อให้ได้ภาพองค์รวมของระบบทั้งหมด และจัดลำดับความสำคัญของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคมที่ถือเป็นวาระแห่งชาติ เช่น
      ปฏิรูประบบการคลัง การเก็บภาษี และจัดสรรงบประมาณ เพื่อหารายได้จากคนรวยมากระจายช่วยพัฒนาคนจน
      ปฏิรูประบบธนาคารสถาบันการเงินและสหกรณ์ ให้จัดสรรสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยเป็นสัด ส่วนสูงขึ้น ลดความต่างกันระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากลง ส่งเสริมการออมและการให้สินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่
      ปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการเกษตร  ปฏิรูปอุตสาหกรรมและธุรกิจขนาดย่อม ปฏิรูปการศึกษาและการฝึกฝนอบรม แก้ปัญหาให้คนว่างงานและคนจน ให้มีทักษะ ทุน และช่องทางที่จะมีงานทำ  หรือพัฒนาอาชีพของตนให้ดีขึ้น
      2) ปฏิรูปการเมือง และปฏิรูประบบราชการ แบบลดขนาดและลดอำนาจนักการเมือง และราชการลง  กระจายอำนาจบริหารสู่องค์กรอิสระ องค์กรมหาชน และองค์กรบริหารท้องถิ่นที่ต้องส่งเสริมพัฒนาให้เป็นองค์กรที่มีความรู้ความ สามารถในการบริหารจัดการและซื่อตรงมากขึ้น  ปฏิรูปการคัดเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระองค์กรมหาชนให้มีความโปร่งใส และคัดเลือกคนที่เหมาะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น   สนับสนุนให้องค์กรประชาชนเข้มแข็ง และตรวจสอบภาครัฐได้เพิ่มมากขึ้น    
      ผ่าตัดการ บริหารจัดการบุคคล และการจัดสรรงบประมาณในระบบราชการใหม่  โดยเฉพาะหน่วยงานด้านบริการและพัฒนาเศรษฐกิจสังคมให้มีประสิทธิภาพเพิ่ม ขึ้น  แก้ไขระเบียบบริหารราชการให้สามารถมีการสับเปลี่ยนโยกย้าย ให้รางวัลและลงโทษข้าราชการได้คล่องตัวแบบการบริหารภาคเอกชน ตรวจสอบประเมินคุณภาพการทำงานของทุกหน่วยงานใหม่หมด โยกย้ายคนที่ไม่ค่อยมีงานให้ไปทำงานอื่นที่ต้องการคนมากกว่าหรือเป็น ประโยชน์มากกว่า ปลดคนทำผิด  คนด้อยประสิทธิภาพออกไป  หรือให้เกษียณก่อนกำหนด  ไม่ใช่เพียงแค่การย้ายข้าราชการผู้มีปัญหาให้ไปเป็นปัญหาหรือภาระกับหน่วย งานอื่น
      รณรงค์เพิ่ม ประสิทธิภาพ ความโปร่งใส ความเป็นธรรม ในการบริหารจัดการทั้งภาครัฐวิสาหกิจและเอกชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับภาครัฐ   หากจะแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เอกชนเข้ามาถือหุ้นเป็นสัดส่วนสูงขึ้นเพื่อปรับ ปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ควรเน้นการขายหุ้นให้พนักงาน ประชาชน องค์กรประชาชน และธุรกิจเอกชนในประเทศ ไม่จำเป็นต้องขายให้นักลงทุนต่างประเทศ เพราะทุนในประเทศไทยก็มีมากพอ  ปรกติถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีการดำเนินงานดีมีผลกำไร ก็จะมีคนในประเทศไปเข้าคิวจองซื้อมากกว่าจำนวนที่เสนอขายอยู่แล้ว
      สนับสนุนผลัก ดันให้การทำงานของสำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ปปช.)  สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และองค์กรอิสระอื่น ๆ เพิ่มการตรวจสอบและรณรงค์ลดการคอรัปชั่น การเล่นพรรคเล่นพวก การใช้อภิสิทธิ์ และการใช้อำนาจไม่เป็นธรรม อย่างเป็นหลักการทั่วไป  ที่ใช้กับทุกฝ่ายอย่างยุติธรรม และเพื่อแก้ปัญหา หรือป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกทั้งระบบ  ไม่ใช่การเลือกแก้ปัญหาเฉพาะส่วน เฉพาะบุคคลอย่างที่ทำกันอยู่
      3) ปฏิรูปการศึกษา  การวิจัยและการพัฒนา การสื่อสารมวลชนห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ   การบริหารจัดการองค์กรคณะสงฆ์  และมูลนิธิสาธารณกุศลต่าง ๆ เพื่อ กระจายโอกาสการเรียนรู้และพัฒนาตนเองสู่ประชาชนส่วนใหญ่ ส่งเสริมให้คนรู้จักการทำงานของสมอง และใช้สมองอย่างมีประสิทธิภาพ รักการเรียนรู้  และมีโอกาสเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการพัฒนาจิตสำนึกทางสังคมเพิ่มขึ้น  ปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอนให้นักเรียนหัดคิดวิเคราะห์  ปฏิบัติ ทำงานรวมกลุ่มมากขึ้น
      ปฏิรูปการเป็น เจ้าของและผู้ควบคุมให้สถาบันการศึกษา องค์กรทางศาสนา  มูลนิธิสาธารณกุศล และสื่อมวลชนเป็นของประชาชน  และควบคุมดูแลโดยประชาชนและชุมชนมากขึ้น  รณรงค์เปลี่ยนวิถีชีวิตและค่านิยมใหม่ที่มุ่งแนวทางแข่งขันกับตนเองและร่วม มือกับคนอื่น เพื่อพัฒนาความอยู่เย็นเป็นสุขหรือคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ แทนวิถีชีวิตและค่านิยมเก่าที่เน้นการแข่งขันกันแสวงหาเงิน  กำไรส่วนเอกชนและการบริโภคมากเกินไป
      ส่งเสริม กิจกรรมที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ด้านศาสนาจริยธรรมและจิตสำนึกที่จะช่วย ทำให้ประชาชนเข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันช่วยแก้ปัญหาของทั้ง สังคมอย่างคนที่มีวุฒิภาวะ สามารถตัดสินปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนต่าง ๆ ด้วยสติปัญญาและสันติวิธี ทำงานสร้างสรรค์เพื่อส่วนรวม เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม   เปลี่ยนแปลงค่านิยมแบบเห็นเงินเป็นพระเจ้าและนิยมการบริโภคที่ฟุ่มเฟือย  หันมายกย่องค่านิยมที่ซื่อสัตย์สุจริต   การใช้ชีวิตประหยัด เรียบง่าย เอื้ออาทรต่อกันและกัน มีจิตสำนึกเห็นแก่ประชาคม และลูกหลานในระยะยาว
      4. ใช้มาตรการทั้งทางภาษี การจัดสรรงบประมาณ และการรณรงค์ทางสังคม  ให้ประชาชนสนใจและมีโอกาสที่จะเรียนรู้และคิด ค้นคว้าวิจัย พลังงานทางเลือก เกษตรทางเลือก เทคโนโลยีทางเลือก ฯลฯ ประหยัดการใช้พลังงานและลดการบริโภคสินค้าที่ไม่จำเป็นลง 
      รณรงค์ให้ ประชาชนเกิดความตระหนักเรื่องการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ประหยัดลดการบริโภคที่ไม่จำเป็น เช่น ลดการใช้พลังงานจากน้ำมัน  ซึ่งทำลายสิ่งแวดล้อมและสิ้นเปลืองเงินต่างประเทศ มาใช้พลังงานทางเลือก  เช่น  น้ำมันไบโอดีเซล พลังไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์  พลังความร้อนใต้โลก  พลังลม  แกสชีวภาพ ฯลฯ มากขึ้น ลดการใช้รถส่วนตัวลง ใช้รถสาธารณะ  จักรยาน ฯลฯ มากขึ้น
      การจะประหยัด พลังงานของประเทศต้องใช้มาตรการทางภาษี และการรณรงค์ควบคู่กันไป การรณรงค์แบบขอร้องหรือขอความร่วมมืออย่างเดียวไม่ค่อยได้ผล เช่น ถ้าจะให้คนลดการใช้รถส่วนตัวโดยเฉพาะคันใหญ่ ๆ ลงก็ต้องเก็บภาษีค่าธรรมเนียมให้สูงขึ้น, เก็บค่าธรรมเนียมการขับรถเข้ามาในตัวเมืองชั้นใน, เก็บค่าที่จอดรถให้สูงขึ้นเป็นต้น 
      5) ปฏิรูประบบกฎหมาย  ตำรวจ อัยการ  ผู้พิพากษา  ราชทัณฑ์  การประชาสงเคราะห์ การพัฒนาสุขภาพจิต การพัฒนาความอบอุ่นในสถาบันครอบครัว อย่างเชื่อมโยงกันเป็นระบบองค์รวม  ไม่ใช่ต่างหน่วยงานต่างทำงานตามหน้าที่ไปวัน ๆ โดยควรเน้นการส่งเสริมให้คนทำความดี  ทำสิ่งที่ถูกต้อง ทำกฎหมายให้ประชาชนเข้าใจง่าย  มีเหตุผล  มีความโปร่งใส มากกว่าการจัดระเบียบสังคมแบบเพิ่มความเข้มงวดให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจในการ ลงโทษได้มากขึ้น  ซึ่งมักจะทำให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจในทางที่ผิด  เกิดการทุจริต ฉ้อฉลเพิ่มขึ้น
      การปฏิรูปทาง ด้านกฎหมาย การลงโทษ  และการประชาสงเคราะห์  ควรมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์คือ  ช่วยให้คนทำดีมากกว่าพึ่งแต่ตัวกฎเกณฑ์ต่าง ๆ นั่นก็คือ ต้องคัดเลือกคนที่มีคุณภาพและบริการงานด้านนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม  ความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ทันสมัยต่อสภาพการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  และเปิดให้องค์กรประชาชนมีส่วนร่วม ในการแก้ปัญหาเพิ่มขึ้น
      6) ระดมกำลังความคิด  ทรัพยากร  บุคคล ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคมที่ร้ายแรง เช่น การแพร่ระบาดของยาเสพติด และปัญหาการกดขี่เอารัดเอาเปรียบผู้หญิง  เด็กและเยาวชน ให้ได้ผลอย่างถึงรากเหง้า 
      ปัญหายาเสพติด เป็นเรื่องวิกฤติเร่งด่วน  ที่ต้องแก้ไขในหลาย ๆ ด้านพร้อมกันไปอย่างเชื่อมโยง  และต้องลงมือผ่าตัดปราบปรามการทุจริตฉ้อฉลของเจ้าหน้าที่ในเรื่องนี้อย่าง เด็ดขาด ไม่มีการลูบหน้าปะจมูก ผ่อนปรนให้กับผู้ที่มีอำนาจหนุนหลัง 
      ปัญหาทางสังคม ที่ร้ายแรง เช่น ยาเสพติดนั้น เป็นปัญหาที่เกิดจากหลายสาเหตุ หรือ สภาพแวดล้อมทั้งหมดแนวทางแก้ไข ต้องแก้ไขทั้งปัจจัยด้านเศรษฐกิจ การเมือง  สังคมวัฒนธรรม ควบคู่กันไป กับการปราบปรามการค้ายาเสพติด เช่น  ต้องสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว  โรงเรียนและวัด  ช่วยให้เด็กเยาวชนมีโอกาสได้เรียนทำงาน  มีที่เล่นกีฬา ดนตรี ทำงานศิลปะ  และกิจกรรมสร้างอื่น ๆ ต้องส่งเสริมให้การศึกษาให้ผู้ปกครอง ครู ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง  เข้าใจจิตวิทยาในการดูแลเด็กและเยาวชนเพิ่มมากขึ้น  ขยายบทบาท หรือจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือบำบัดผู้ติดยาเสพยติด ที่มีเจ้าหน้าที่เข้าใจปัญหาและช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างได้ผลเพิ่มมากขึ้น ฯลฯ
      ปัญหาการกดขี่ ข่มเหงแรงงานเด็กและเยาวชน โสเภณีเด็กและเยาวชนก็เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับปัญหาเศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรมอย่างซับซ้อนเช่นกัน ต้องแก้ไขในหลายด้าน พร้อมกันอย่างครบวงจร ไม่ใช่แก้ไขตามการแบ่งงานของส่วนราชการแบบต่างคนต่างทำหน้าที่เฉพาะด้าน รวมทั้งต้องหาวิธีป้องกันและส่งเสริมด้านบวก เช่น ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของเด็กและสตรีเพิ่มขึ้น ทำให้เด็กและเยาวชนสตรีมีความรู้ มีภูมิต้านทานและความเข้มแข็งที่จะต่อสู้การเอารัดเอาเปรียบพวกตนได้เพิ่ม ขึ้น 
      7) ปฏิรูประบบสาธารณสุข สวัสดิการสังคม  และการพัฒนาสังคมในด้านเกี่ยวกับสุขภาพกาย  และสุขภาพจิต  รวมทั้งการพัฒนาสถาบันครอบครัว สถาบันองค์กรประชาชน ให้มีความเข้มแข็ง เน้น การป้องกันและการวางแผนดำเนินงานเพื่อระบบสาธารณสุขที่ดีอย่างต่อเนื่อง รณรงค์ลดการใช้ยาสมัยใหม่ที่ปัจจุบันคนไทยใช้กันมากเกินไป ลดการติดบุหรี่  เหล้า ยาเสพย์ติดต่าง ๆ ส่งเสริมการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและสมุนไพรที่ผลิตได้ใน ประเทศ  และการออกกำลังกาย รณรงค์ลดปัญหาอุบัติเหตุจากการเดินทาง    การเจ็บป่วยจากทำงาน และปัญหามลภาวะ
      เน้นการให้ ความรู้ความเข้าใจประชาชนให้รู้จักใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ทั้งในทางร่างกายและจิตใจ เสริมสร้างสุขภาพกายและสุขภาพจิตของประชาชนในสังคมมากกว่าการตามรักษา  ตามแก้ปัญหาเฉพาะทางไปวัน ๆ ซึ่งมักจะแก้ได้เพียงบางส่วน สิ้นเปลือง  หรือก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมา
      ปฏิรูประบบสวัสดิการสังคม ซึ่งรวมทั้งการให้บริการทางสังคม ประกันสังคมและการสงเคราะห์ให้ครอบคลุมประชาชนส่วนใหญ่ แก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมทางสังคม เช่น ยาเสพย์ติด โสเภณี การขูดรีดแรงงานเด็ก อาชญากรรม การทุจริตฉ้อฉลข่มขู่รีดไถ ฯลฯ อย่างเข้มข้น  ทุ่มเทเอาจริงเอาจัง  มุ่งแก้ที่ต้นตอของปัญหา และอย่างครอบคลุมถึงระบบโครงสร้างของสังคมทั้งหมด ไม่ใช่การใช้วิธีแบบราชการที่ฝ่ายบริหารเพียงแต่สั่งให้หน่วยงานนั้นหน่วย งานนี้แก้ปัญหาตามหน้าที่ไปวัน ๆ ซึ่งมักไม่ได้ผล หรือแก้ได้เฉพาะส่วน แต่ไม่ได้แก้ปัญหาอื่น ๆ อย่างเชื่อมโยงกันเป็นระบบครบวงจร
      ปฏิรูปองค์กร รัฐที่ทำงานด้านการพัฒนาสังคม ประกันสังคม สวัสดิภาพสังคม ให้ทำงานอย่างคล่องตัว มีประสิทธิภาพแบบองค์กรพัฒนาเอกชน  รวมทั้งรัฐควรให้งบฯสนับสนุนองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการดูแลเด็ก เยาวชน  สตรี  ผู้สูงอายุ  ผู้พิการ  ผู้ด้อยโอกาสหรือเสียเปรียบในด้านต่าง ๆ เพื่อให้องค์กรเหล่านี้ขยายงานได้และช่วยลดภาระที่หน่วยงานรัฐที่มีขีดความ สามารถจำกัด  และทำให้มีการให้บริการทางสังคมที่หลากหลาย และแข่งขันกันอย่างสร้างสรรค์  ทำให้ประชาชนมีทางเลือกเพิ่มขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น