วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

สิทธิมนุษยชนคืออะไร
สิทธิมนุษยชน (Human Rights) หมายความถึง สิทธิความเป็นมนุษย์หรือสิทธิในความเป็นคน อันเป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนที่เกิดมา สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่ไม่สามารถโอนให้แก่กันได้ และไม่มีบุคคล องค์กร หรือแม้แต่รัฐ สามารถล่วงละเมิดความเป็นมนุษย์นี้ได้ สิทธิในความเป็นมนุษย์นี้เป็นของคนทุกคน ไม่เลือกว่าจะมีเชื้อชาติ แหล่งกำเนิด เพศ อายุ สีผิว ที่แตกต่างกันหรือจะยากดีมีจนหรือเป็นคนพิการ สิทธิมนุษยชนนั้นไม่มีพรมแดน การกระทำใดที่มนุษย์กระทำต่อกันอย่างหยามเกียรติและละเมิดศักดิ์ศรีของความ เป็นคน ไม่ว่าจะเกิดแก่มนุษย์ที่ประเทศใด และไม่ว่า ผู้กระทำการละเมิดจะเป็นบุคคล กลุ่มบุคคล หรือรัฐใดรัฐหนึ่งก็ตาม ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
การจะเข้าใจความหมายของสิทธิมนุษยชนนั้น จำเป็นต้องเข้าใจหลักการต่างๆ ที่ถือเป็นองค์รวมของสิทธิมนุษยชนด้วย คือ
1) สิทธิ (Rights)
สิทธิเป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์ทุกคนตามธรรมชาติที่ ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งไม่มีใครล่วงละเมิดได้ คนทุกคนที่เกิดมามีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่รอด และต้องมีชีวิตอยู่อย่างสมเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ความมีอยู่ของสิทธิตามธรรมชาตินี้ แม้เมื่อยังไม่มีกฎหมายมารองรับ สิทธิก็ยังมีอยู่
2) เสรีภาพ (Freedom)
เสรีภาพหมายถึง การที่มนุษย์สามารถทำอะไรก็ได้ภายใต้ขอบเขตของ ศีลธรรมอันดีงาม โดยไม่เบียดเบียนสังคม หรือไม่ล่วงล้ำสิทธิของบุคคลอื่น หรือสิทธิของส่วนรวม เราจึงเห็นว่ามีการใช้คำ 2 คำนี้พร้อมกัน คือสิทธิ และเสรีภาพ ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (Universal Declaration of Human Rights) มักจะใช้คำว่าสิทธิและเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นและแสดงออก หรือสิทธิและเสรีภาพในการเลือกคู่ครองและสร้างครอบครัว เป็นต้น
3) ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human Dignity)
ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นคำที่อธิบายความหมายของสิทธิมนุษยชน ในแง่ของการให้คุณค่าแก่ความเป็นคนว่า คนทุกคนมีคุณค่าเท่าเทียมกัน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นหลักการสำคัญของสิทธิมนุษยชนที่กำหนดสิทธิที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ใครจะละเมิดไม่ได้ และไม่สามารถ่ายโอนให้แก่กันได้ สิทธินี้คือสิทธิในการมีชีวิตและมีความมั่นคงในการมีชีวิตอยู่ คนทุกคนที่เกิดมาบนโลกมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้นการปฏิบัติต่อกันของผู้คนในสังคมจึงต้องเคารพความเป็นมนุษย์ ห้ามทำร้ายร่างกาย ทรมานอย่างโหดร้าย หรือกระทำการใดๆ ที่ถือเป็นการเหยียดหยามความเป็นมนุษย์ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ได้รับการรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศ อนุสัญญา และปฏิญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ
สังคมปัจจุบันมักละเลยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะมีการให้คุณค่าของคนแตกต่างกัน สังคมทั่วไปให้คุณค่าของความเป็นคนที่สถานภาพทางสังคมของผู้นั้น เช่น เป็นกำนัน เป็นนายทหาร เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้พิพากษา สถานภาพทางสังคมของคนแต่ละคน ไม่ใช่ตัวชี้วัดว่ามนุษย์หรือคนคนนั้นมีศักดิ์ศรีของมนุษย์หรือไม่ แต่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คือการให้คุณค่าความเป็นคนตามธรรมชาติของมนุษย์ไม่ว่าจะเกิดมาพิการ เป็นเด็ก เป็นผู้หญิง ผู้ชาย กะเทย เกิดมาเป็นคนปัญญาอ่อน หรือยากจน คนทุกคนที่เกิดมาถือว่ามีคุณค่าเท่ากัน ต้องปฏิบัติต่อกันเยี่ยงมนุษย์อย่างเสมอหน้ากัน เพราะการปฏิบัติต่อกันของผู้คนในสังคมอย่างเสมอหน้ากันเป็นการเคารพ ศักดิ์ศรีมนุษย์
4) ความเสมอภาคและการเลือกปฏิบัติ (Equality and Discrimination)
เกณฑ์การวัดว่าสังคมหนึ่งสังคมใดมีการละเมิดหรือ เคารพสิทธิมนุษยชนก็คือ การดูว่าสังคมนั้นมีการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือไม่ ตัวชี้วัดของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็คือ ความเสมอภาค หรือการปฏิบัติต่อคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน หากมีการปฏิบัติต่อมนุษย์โดยไม่เท่าเทียมกัน เราเรียกว่า การเลือกปฏิบัติ
ความเสมอภาคหรือความเท่าเทียมกัน มิใช่แปลว่าคนทุกคนต้องได้รับเท่านั้น แต่หมายความว่า ในสถานการณ์ที่เหมือนกันจะต้องปฏิบัติต่อคนด้วยหลักการเดียวกัน เช่น การประกาศรับนักเรียนเข้าเรียนประถมศึกษาในโรงเรียนของรัฐนั้น ต้องเป็นการประกาศแก่บุคคลทั่วไปที่มีบุตรอายุครบตามเกณฑ์ที่กำหนด เช่น เด็กทุกคนที่อายุครบ 7 ปี มีสิทธิสมัครสอบเข้าเรียนชั้น ป.1 เป็นต้น โรงเรียนจะประกาศว่า โรงเรียนจะรับเด็กที่พ่อแม่มีอุปการคุณเข้าโรงเรียน โดยเด็กไม่ต้องสอบเข้าเหมือนเด็กคนอื่นไม่ได้ หากโรงเรียนประกาศในลักษณะเช่นนี้ เท่ากับเป็นการใช้หลักเกณฑ์ที่ต่างกันต่อการปฏิบัติในสถานการณ์ที่เหมือนกัน ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ
ส่วนที่กล่าวว่าความเท่าเทียมกัน หรือเสมอภาคกันนั้น ไม่ได้แปลว่าคนทุกคนต้องได้รับเท่ากัน แต่หมายความว่า ในสถานการณ์เดียวกัน อาจมีการได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกันได้ เพราะข้อจำกัดหรือความจำเป็นของบุคคลนั้น ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการไม่เสมอภาคหรือเป็นการเลือกปฏิบัติ เช่น รัฐบาลประกาศว่าคนทุกคนที่มีรายได้จะต้องเสียภาษีให้แก่รัฐเท่ากันทุกคน โดยไม่ต้องคำนึงว่าใครจะมีรายได้มากน้อยเท่าใด โดยรัฐจะอ้างว่านี่คือการใช้เกณฑ์เดียวกัน ปฏิบัติต่อคนทุกคนเสมอหน้ากันหรือรัฐจะออกกฎหมายให้คนทุกคนอยู่บ้านการเคหะ ที่รัฐจัดหาไว้ให้ เพื่อแสดงว่าคนทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอหน้ากัน ย่อมไม่ใช่การอธิบายหลักของความเสมอภาค เพราะในความเป็นจริง การเสียภาษีให้แก่รัฐตามกำลังแห่งรายได้ของบุคคลนั้น ย่อมเกิดความเป็นธรรมแก่ผู้มีรายได้ทุกคน มิใช่ให้คนที่มีรายได้น้อยต้องเสียภาษีเท่าคนที่มีรายได้มาก
ดังนั้น ตามหลักการเรื่องความเสมอภาคนั้น จึงต้องเป็นกรณีที่มีข้อเท็จจริง 2 ชุด หรือกรณีบุคคล 2 คน หรือกลุ่ม 2 กลุ่ม โดยนำข้อเท็จจริงทั้งสองมาเปรียบเทียบกัน โดยยึดถือสาระสำคัญของเรื่องนั้นๆ เป็นจุดโยงในการเปรียบเทียบ ซึ่งอะไรถือเป็นสาระสำคัญของเรื่องหรือกรณีนั้นๆ ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป เพราะความเหมือนหรือแตกต่างกันในสาระสำคัญของกรณีนั้นจะเกี่ยวพันถึงความ สามารถที่จะต้องปฏิบัติให้แตกต่างหรือเหมือนกัน เช่น กรณีการเสียภาษีให้แก่รัฐดังกล่าวข้างต้น สาระสำคัญของกรณีนี้คือ รายได้ของแต่ละบุคคลไม่เท่ากัน จึงต้องเสียภาษีตามสัดส่วนของรายได้ที่ตนได้รับ จึงเกิดความเป็นธรรม เสมอภาคกัน ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือในกรณีคนพิการที่รัฐต้องมีบริการเป็นพิเศษ เพื่อให้คนพิการสามารถได้รับบริการง่ายขึ้นนั้น ไม่ถือว่ารัฐเลือกปฏิบัติต่อคนปกติ เพราะสาระสำคัญของกรณีนี้คือ คนพิการไม่สามารเข้าถึงบริการของรัฐได้เช่นคนปกติ จึงต้องมีวิธีการพิเศษที่ทำให้คนพิการเข้าถึงบริการได้โดยง่ายและเป็นธรรม แก่คนพิการ เช่น กรณีกรุงเทพมหานครจัดลิฟต์ให้คนพิการที่สถานีรถไฟฟ้า BTS หรือมีทางเท้าที่มีทางลาดให้คนพิการที่นั่งรถเข็นสามารถขึ้น-ลง ทางเท้าได้โดยง่าย เป็นการอำนวยความสะดวกให้คนพิการ ถือว่าเป็นการปฏิบัติต่อบุคคลที่มีสาระสำคัญแตกต่างกัน โดยไม่เหมือนกัน ไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ
เมื่อได้เข้าใจหลักการต่างๆ  และที่มาของสิทธิมนุษยชนนี้แล้ว จะทำให้สามารถแยกแยะหรืออธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมได้ว่า กรณีใดเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ละเมิดสิทธิ มนุษยชนอะไร และอาศัยหลักการ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
1. กรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และสิทธิในชีวิต
2. กรณีโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งไม่รับเด็กที่เป็นโปลิโอเข้าเรียนโดยอ้างว่าเป็นคนพิการ ไม่น่าจะเรียนได้เท่าเด็กปกติ เป็นการละเมิดหลักความเสมอภาคและการเลือกปฏิบัติ
3. กรณีกรมตำรวจออกจดหมายเตือนบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ให้งดการวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของเสรีภาพของสื่อมวลชน
4. กรณีชาวเขาอยู่บนเขามาก่อนการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่ทางราชการบังคับให้ย้ายออกเพราะกลัวว่าจะไปตัดไม้ทำลายป่า เป็นการละเมิดเสรีภาพในการเดินทางและเลือกถิ่นที่อยู่
5. กรณีหนังสือพิมพ์ลงภาพข่าวผู้หญิงถูกข่มขืนและนำเสนอข่าวการถูกข่มขืนอย่างละเอียด เป็นการละเมิดเสรีภาพในเกียรติยศ ชื่อเสียง และความเป็นส่วนตัว
6. กรณีรัฐบาลออกกฎหมายให้มีพรรคการเมืองของรัฐบาลเพียงพรรคเดียว เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพทางการเมือง
7. กรณีรัฐบาลสร้างเขื่อนโดยไม่ให้ประชาชนรับรู้ข่าวสาร เป็นการละเมิดสิทธิที่จะรู้ข้อมูลข่าวสาร
8. กรณีตำรวจซ้อมผู้ต้องหาให้รับสารภาพ เป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายห้ามทรมาน
9. กรณีนายสุชาติ ชาวบุรีรัมย์ มาทำงานเป็นกรรมกรก่อสร้างในกรุงเทพฯ ได้ค่าจ้างวันละ 50 บาท เป็นการละเมิดสิทธิในการมีงานทำ และได้ค่าจ้างที่ยุติธรรม
10. กรณีชาวกะเหรี่ยงถือผี จัดพิธีเคารพเจดีย์ เจ้าป่าเจ้าเขา แต่ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้สั่งห้าม เป็นการละเมิดสิทธิในการถือศาสนา และสิทธิในการดำเนินกิจกรรมทางวัฒนธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น