วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การสร้างความเท่าเทียมและความเป็นธรรมในสังคม

ความเท่าเทียม และความยุติธรรม คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร  แล้วทำไมสองคำนี้ถึงจำเป็นมากในสังคม

บทความโดย ผีในฝัน

ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายดังนี้    

เท่าเทียม

ความหมาย

ว. เสมอหน้า, ทัดเทียม.

ส่วนคำว่า ยุติธรรม  ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้  

ยุติธรรม

ความ หมาย  น. ความเที่ยงธรรม, ความชอบธรรม, ความชอบด้วยเหตุผล, เช่น ศาลย่อมทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม; ชื่อกระทรวงที่มีอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับการศาลยุติธรรม แต่ไม่รวมถึงการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี. ว. เที่ยงธรรม, ไม่เอนเอียงเข้าข้างใดข้างหนึ่ง, ชอบด้วยเหตุผล, เช่น ราคายุติธรรม กรรมการตัดสินอย่างยุติธรรม.

   ความเท่าเทียม หากจะกล่าวถึงความหมายแล้วใครๆก็พอจะทราบและรู้ๆกันดีว่าหมายถึงอะไร ความเท่าเทียมในความรู้สึกของข้าพเจ้านั้นเป็นการได้รับสิ่งต่างๆเหมือน ไม่แตกต่างจากสิ่งที่นำมาเปรียบเทียบ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องความเท่าเทียมในเรื่องของสิทธิต่างๆในเพศหญิง และชาย ความเท่าเทียมกันของการบริการของรัฐที่มีต่อประชาชนไม่ว่าจะฐานะยากจนหรือ ร่ำรวยเป็นต้น

อันความหมายและการปฏิบัติจริงๆในสังคมไม่ว่าจะหน่วยเล็กๆก่อนเช่นครอบครัว หรือหน่วยใหญ่เป็นองค์กรที่ทำงาน

   ตัวอย่างความเท่าเทียมกันในครอบครัว  เมื่อเรามีบุตรไม่ว่าจะ 2 คน 3 คนหรือ 4 คน จำนวนเท่าไหร่ก็ตาม หน่วยเล็กๆคือครอบครัวจะเป็นส่วนหนึ่งที่ปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่างง่ายๆใน สังคมก็ว่าได้ เพราะความเท่าเทียมกันจะแสดงออกมาให้เห็นชัดเจนเมื่อมีสิ่งมาเปรียบเทียบ เช่นลูกของเราเป็นต้น เรามีลูกอยู่ 2 คนแต่เราแสดงออกถึงความรักลูกคนสุดท้องมากกว่าคนแรกอย่างเห็นได้ชัดเจน เช่นมีขนมสองอย่าง ขนมชิ้นแรกราคาแพง ดีและหายาก ขนมชิ้นที่สองราคาถูกมาก หาได้ทั่วไป ด้วยความรักที่ไม่เท่าเทียมในจิตของผู้ปกครอง อาจจะรักลูกคนที่สองมากด้วยเหตุผลส่วนตัวหรือเกิดความลำเอียงในใจ นั่นแหละคือเหตุผลแห่งความผิดต่อการกระทำ เมื่อแบ่งของดีๆให้ลูกคนที่สอง คนแรกก็ย่อมได้ของไม่ดีราคาถูกไป ทั้งๆที่เรามีโอกาสได้คิดก่อนว่าสมควรที่จะแบ่งให้ลูกได้สิ่งที่ดีๆเท่าๆกัน อันนี้แหละเป็นเหตุที่เกิดจากที่เราไม่ทันได้คิดถึงผลกระทบที่จะตามมาให้ เห็น

    ความเท่าเทียมต้องแสดงออกจากจุดเริ่มต้นคือครอบครัวเพื่อให้เห็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง ทำไม ถึงกล่าวอย่างนี้ก็เพราะว่า เราทำอะไรก็ย่อมรู้แก่ใจของเราเอง แต่การกระทำที่แสดงออกไปจะบ่งบอกถึงจิตใจของเราด้วยเป็นแน่แท้ ดังเช่นตัวอย่างที่เราแสดงให้ลูกเห็น เราอาจจะคิดว่าลูกยังเด็ก คิดอะไรยังไม่ได้หรอก นั่นไม่ใช่เหตุผลที่เราจะเข้าข้างตัวเราเอง เพราะนี่เป็นการฝึกจิตใจอีกอย่างหนึ่งที่เป็นการปฏิบัติในแรกเริ่ม ถ้าเรื่องแค่เกี่ยวกับครอบครัว คนใกล้ตัวที่ใกล้ชิดกับเรามากขนาดนี้เรายังคิดขนาดนี้แล้ว เมื่อเรามองเข้าไปในสังคมที่ใหญ่ขึ้น เมื่อเราเป็นหัวหน้าสายงาน หรือเป็นผู้บริหารระดับองค์กรแล้ว ในจิตใจยังมีความไม่เท่าเทียมอยู่มากแล้ว ย่อมส่งผลกระทบต่อการแสดงออกของเรา ยังผลต่อผู้อื่นอันไม่สมควรอีกมากมาย

  มาดูผลกระทบกันจากตัวอย่างเรื่องลูก กระทบอย่างมาก แบบไม่กระทันหันแต่จะส่งผลกับเขาเมื่อเขาเติบโต มีความคิดเป็นของตนเองมากขึ้น เขาสามารถคิดเรียบเรียงเหตุการณ์ในอดีตหรือปัจจุบันเชื่อมโยงกัน และรู้อยู่ลึกๆเสมอว่าบิดา มารดา หรือผู้ปกครองไม่ได้รักพวกเขาเท่าเทียมกันมาตลอด อันยังผลต่อสภาพจิตใจที่ทำให้เป็นปมด้อยฝังอยู่ลึกๆ พร้อมจะแสดงออกมาได้ทุกเมื่อ หากผู้ใดฝึกจิตได้มากแล้วเขาก็จะไม่คิดอะไรมาก หากแต่จิตใจของบางคนเปราะบางยากจะทำใจก็จะเกิดความกร้าวร้าว ฉุนเฉียว แสดงออกมาทางอารมณ์อย่างชัดเจนให้เห็น นี่เป็นเพียงผลกระทบที่กล่าวออกมาเพียงส่วนย่อย แต่แท้จริงแล้วในสังคมยังมีความไม่เสมอภาคต่างๆให้เห็นมากมาย

  ความยุติธรรม จะเห็นได้ว่ามีความหมายคล้ายเคียงกัน แต่ย่อมมีข้อแตกต่างคือความยุติธรรมจะต้องละเอียดกว่าในด้านการมองในแง่ของธรรมะเข้ามาเกี่ยวข้อง คือ การแสดงออกในเรื่องต่างๆเพื่อให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมกันจะต้องอยู่ใน แนวทางที่ดี ไม่ก่อเกิดผลเสียหายต่อผู้อื่น และส่วนรวม ผลที่เกิดจากการกระทำให้เกิดซึ่งความเสมอภาคและเท่าเทียม ไม่ให้เกิดการแบ่งแยกแตกต่างแล้วนั้น จะต้องอยู่ในแนวทางแห่งการกระทำแห่งความดี หากกระทำแล้วมีแต่เรื่องเสียหายต่อผู้อื่นและสังคม การกระทำเหล่านั้นไม่สมควรที่จะเรียกว่าความยุติธรรมเลย

    ทำไมผู้เขียนถึงมีแนวคิดที่มองให้เห็นการกระทบต่อสังคมด้วย เพราะว่าการสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้จะต้องมองให้เสมอทัดเทียมกันทุกหน่วยในสังคม ถ้า เรามองเพียงส่วนเล็กๆแล้ว ก็ไม่ถือว่ามองโลกได้กว้างเราก็จะอยู่แต่การมองแคบๆ  แม้ทฤษฏีจะสามารถกล่าวอ้างได้กว้างแค่ไหน แต่แนวปฏิบัติจริงๆนั้นจะอยู่ในส่วนที่แคบกว่าเพราะเราอยุ่ในสภาพที่เราเห็น และเป็นอยู่ แต่เพียงแค่เราทำในส่วนเล็กๆจากครอบครัวเราก่อน สร้าง ความยุติธรรมในบ้านหลังน้อยๆ หลายๆครอบครัวมีแต่ความยุติธรรม ผลผลิตที่ออกมาย่อมมารวมกันมากขึ้น ความยุติธรรม เท่าเทียมกันในสังคมก็มีมากตามมา การแสดงออกจากเพียงแค่ในองค์กร เล็กๆ เช่นผู้นำองค์กร คัดเลือกพนักงานเพื่อเลื่อนตำแหน่งจากความรู้ ความสามารถ และการปฏิบัติตน ไม่ได้มองแค่ความสัมพันธ์ใกล้ชิด อายุงาน และผิวพรรณหน้าตาแล้ว ความยุติธรรมที่แสดงออกมาย่อมทำให้ผู้นำในองค์กรน่าเลื่อมใสและศรัทธา เป็นต้น

  ทำไมสองคำนี้ถึงสำคัญมากในสังคม จะเห็น ได้ว่าบ้านเมืองเรา หรือประเทศต่างๆ เล็กหรือใหญ่ต่างมี ศาล ประจำประเทศของตน เพราะอะไร เพื่อตัดสินคดีความต่างๆมากมายที่มีอยู่ไม่หมดสิ้นของมนุษย์นั่นเอง เพราะความคิดที่หลากหลายในสังคม ยังผลต่อการปฏิบัติที่แตกต่างความคิดเห็นไม่ลงตัวกันก็ถือโทสะ โมโห บางทีก็ตัดสินกันเองด้วยการทะเลาะวิวาท บางทีก็ต้องอาศัยศาลเป็นที่พึ่ง หรือเรียกได้ว่าเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยนั่นเอง  ความสงบจึงเกิดขึ้นได้แม้จะไม่ตลอดไปแต่ก็ได้ระยะหนึ่งก็ยังดี เพราะตราบใดที่มนุษย์เราไม่สร้างความเท่าเทียมกันให้เกิดเป็นพื้นฐานแล้วก็ย่อมต้องคอยแก้ปัญหาต่างๆที่ตามมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น