วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ความหลากหลาย

ความหลากหลาย


แม้เมืองไทยมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูงแต่แบบเรียนไม่ถือเป็นลักษณะสำคัญที่จะแนะนำให้เด็กไทยรู้จักนัก ทว่าในชีวิตจริง ไม่ว่าจะถูกสั่งสอนในโรงเรียนมาอย่างไร คนไทยก็ได้เห็นความแตกต่าง ทางวัฒนธรรมอยู่เต็มตา ตลอด เพียงแต่ว่าคำสอนจากโรงเรียนทำให้คนไทยมองความแตกต่างนี้ว่าเป็นความเพี้ยน หรือการแปรเปลี่ยน ของวัฒนธรรมที่เป็นเนื้อเดียวกันเท่านั้น
เรียกให้ฟังขลังๆ ว่า "อนุวัฒนธรรม" เป็นแค่เมียน้อยของวัฒนธรรมกระแสหลัก ที่ใช้กันในคนบางกลุ่มบางเหล่า แต่ก็ยังร่วมสังกัดในครอบครัววัฒนธรรมกระแสหลักนั่นเอง
เมื่อผมเป็นเด็ก มีเพื่อนคนหนึ่งเขาไปเที่ยวอีสานมา แล้วกลับมาบอกผมว่าคนอีสานพูดภาษาไทยไม่ชัด นั่นคือภาษา ลาวถูกถือเป็นภาษาไทยที่บิดเบี้ยวไป ไม่ใช่ภาษาถิ่นต่างหาก อีกภาษาหนึ่ง เหมือนกับภาษากรุงเทพฯ ก็เป็นภาษาถิ่น อีกภาษาหนึ่งในตระกูลภาษาไทย
การกลืนความหลากหลายแตกต่างทางวัฒนธรรมเช่นนี้เริ่มจะแค้นคอมากขึ้น เมื่อเราต้องเผชิญกับ "ชาวเขา" หรือชาวเขมร (สูง) และกูยในอีสานล่าง, หรือชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่ไม่ได้ร่วมอยู่ในตระกูลภาษาไทย แต่จะถือว่า รัฐไทยโชคดีก็ได้ เพราะความหลากหลายแตกต่างทางวัฒนธรรมช่วงนี้ โผล่มาพร้อมกันกับการท่องเที่ยว หรืออาจเป็นไปได้ด้วยว่าการท่องเที่ยวนั่นแหละที่ไปดึงเอาความหลากหลายแตกต่างเหล่านี้ให้ปรากฏขึ้นในสังคม
สังคมไทยยอมรับอย่างไม่ยากนักว่า ความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นความมั่งคั่ง... แหะๆ ก็มีบางคน ได้เงินจากการเอาชาวเขามาเต้นระบำให้ดูจริงๆ นี่ครับ...
พูดกันอย่างไม่ประชดก็คือ เป็นการยอมรับปลอมๆ เพราะไม่ได้ยอมรับแบบให้เกียรติให้คุณค่า (ไม่ใช่ให้มูลค่า) แก่วัฒนธรรมที่แตกต่าง ในขณะที่ชื่นชมกับการแข่งรถไม้ลงภูเขาของชาวม้ง, หรือการเต้นรำฉลองของชาวอาข่า หรือการเล่นดนตรีประกอบ "ทา" ของชาวกะเหรี่ยง แต่เราไม่ยอมรับวิถีชีวิตที่เป็นจริงของเขา เรามองการ ทำไร่หมุนเวียนของเขาเท่ากับการทำไร่เลื่อนลอย จึงบีบบังคับให้เขาหยุดด้วยการ ทำไร่บนพื้นที่ กรรมสิทธิ์ เฉพาะบุคคล เหมือนกับวิชาทำไร่ของพวกเราชาวพื้นราบ เรากวาดต้อนชาวม้งจำนวน มากมาอยู่ในค่ายกักกัน บนพื้นราบ โดยไม่ใส่ใจกับการจัดองค์กรทางสังคมของเขา หรือช่องทางทำมาหากินที่เขารู้จักและชำนาญ
แม้แต่การละเล่นและการเต้นรำของเขาก็ถูกเราดัดแปลงให้เหมาะกับการเป็นมหรศพ เพื่อขายนักท่องเที่ยว
ความตระหนักในความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมของสังคมไทยจึงแปลกๆ อยู่ เพราะเป็นการนำเอา วัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายนั้นมาอยู่ภายใต้การครอบงำของวัฒนธรรมเดียว ไม่ใช่วัฒนธรรม "ไทย" นะครับ แต่อยู่ภายใต้การครอบงำของวัฒนธรรมพานิชยนิยมต่างหาก (รวมทั้งวัฒนธรรม "ไทย" เองก็ถูกนำไปอยู่ใต้ร่ม เดียวกันด้วย อยากดูโขนหรือครับ โน่น โรงแรมห้าดาวเขาจัดแสดง "โขนเคล้าข้าว" ให้แขกของเขาได้ชมทุกมื้อ อาหารเย็นแหละ)
สถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ครั้งนี้ นำเอาความแตกต่างทางวัฒนธรรมในสังคมไทยให้ปรากฏขึ้น ในอีกรูป แบบหนึ่ง นั่นก็คือ เอาไปขายให้นักท่องเที่ยวไม่ได้ ซ้ำปรากฏตัวในรูปของความ "ไม่ไทย" อย่างชัดเจน อันที่จริงออกจะมีความระแวงสงสัยคำว่า "ไทย" ที่ใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อแต่ไม่ชัดเจนด้วย
ถ้า "ไทย" แปลว่าพุทธ ชาวมลายูในภาคใต้ประกาศชัดเจนว่าเขาไม่ใช่ ถ้า "ไทย" แปลว่าต้องพูดไทยได้ อ่านภาษาไทยออก ดูโขนเป็น หรือนุ่งโจงกระเบน แล้วร้องเพลงไทย (เดิม) เขาก็ทำไม่เป็นและคงไม่อยากทำด้วย เพราะเขายังอยากเป็นมลายูเหมือนเดิม "ไทย" ในเงื่อนไขเดียวที่เขารับได้ก็คือความเป็นพลเมืองของ รัฐที่เรียก ตัวเองว่าไทย และพึงได้รับสิทธิทุกอย่างตามที่รัฐธรรมนูญของประเทศนี้กำหนดไว้ให้แก่พลเมืองของตัว
เวลาคนไทยทั่วๆ ไปพูดถึง "ไทย" ไม่ชัดว่าหมายถึงอะไรกันแน่ ฉะนั้น ผมจึงไม่แน่ใจว่าคำขวัญประเภท "รักกันไว้ เราไทยด้วยกัน" ในทัศนะของชาวมลายูในภาคใต้ ปลุกความสามัคคีหรือความแตกแยกกันแน่
ความเป็นมลายูอย่างที่เขาเป็น ซึ่ง "ไม่ไทย" และเอาไปขายนักท่องเที่ยวไม่ได้ จึงเป็นวัฒนธรรมที่แตกต่าง ซึ่งชาติไทย (และคนไทยอื่นๆ) ต้องกลืนลงไปให้ได้ ถ้าอยากรักษาความเป็นประชาชาติไทยของเราไว้
นักวิชาการจำนวนมากชี้ประเด็นความอิหลักอิเหลื่อทางวัฒนธรรมตรงนี้ออกมาหลายคนเสนอว่าควรปรับเปลี่ยน
ระบบการศึกษา (ซึ่งต้องหมายรวมถึงการเรียนรู้ผ่านสื่อมวลชนด้วยไม่ใช่เฉพาะห้องเรียน) เพื่อสร้างความรู้ความ เข้าใจแก่คนไทยว่า คนที่แตกต่างจากเราทางวัฒนธรรมโดยสิ้นเชิงนั้นก็มีสิทธิในชาติเท่าเทียมกับเรา วัฒนธรรม ของแต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายล้วนมีรากเหง้าฝังลึกอยู่ในแผ่นดินนี้ พัฒนาคลี่คลายมาตามลำดับ มีความลุ่มลึก และมีปัญญาญาณอันลึกซึ้งอยู่ในวัฒนธรรมนั้นๆ ทั้งสิ้น และนี่คือความ "มั่งคั่ง" ที่แท้จริงของความหลาก หลายทางวัฒนธรรม ไม่ใช่เพราะจะเอาไปขายใครได้ แต่เพราะความหลากหลายทางวัฒนธรรมย่อม ให้ทางเลือกที่หลากหลายแก่สังคมไปพร้อมกัน

เช่นในขณะที่กลไกทางวัฒนธรรมที่ช่วยพยุงให้คนจนพออยู่ได้ในวัฒนธรรมไทยเสื่อมสลายไปเกือบหมดเช่นนี้ เราอาจเรียนรู้และปรับใช้กลไกทำนองเดียวกันนี้ซึ่งยังค่อนข้างมีชีวิตชีวาอยู่ในสังคมมลายูมุสลิมได้ การจัดการ ศึกษาที่ทำให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการควบคุมโรงเรียนระดับหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีเดียวตาม พ.ร.บ.การศึกษา (ซึ่งกำลังถูกทำให้เป็นหมันอยู่เวลานี้) เราอาจเรียนรู้การจัดการตาดีกาและปอเนาะในชุมชนมลายูมุสลิม ซึ่งทำให้ เกิดดุลยภาพทางอำนาจที่เหมาะสมระหว่างชาวบ้านและโต๊ะครูได้
นี่แหละครับคือความมั่งคั่งที่แท้จริงของความหลากหลายทางวัฒนธรรม
ถ้าเกิด "สำนึก" ใหม่ในสังคมไทยอย่างที่นักวิชาการผลักดันอยู่เวลานี้ ก็ต้องถือว่าเป็นก้าวที่สร้างสรรค์ อย่างสำคัญเพราะเราจะเริ่มเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคมอันมีความหลากหลายทาง วัฒนธรรมได้อย่างไม่ต้องยกตนข่มท่าน
อย่างไรก็ตาม ถ้าจะมีการปลูกฝัง "สำนึก" ใหม่ผ่านการศึกษา (ในความหมายกว้างกว่าโรงเรียน) ผมคิดว่ายังมี ความหลากหลายทางวัฒนธรรมอีกมิติหนึ่งซึ่งสังคมไทยน่าจะเรียนรู้ไปด้วย
น่าสังเกตนะครับว่า ความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมที่พูดถึงกันมากในสังคมไทย ไม่ว่าจะมองว่า เป็นปัญหาหรือมองว่าเป็นพลังก็ตามล้วนเป็นความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับความแตกต่างของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีการยกขึ้นมาให้ความสำคัญอยู่เวลานี้ แม้ในวงวิชาการเอง ก็เป็นเรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์...มอญ, เขมร, กุย, เจ๊ก, และมลายู
แต่ชีวิตในสังคมสมัยใหม่ซึ่งวงชีวิตของแต่ละคนต้องเข้าไปสัมพันธ์กับความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่กว้างขวางทั้งสิ้น ทำให้เราต้องเผชิญกับวัฒนธรรมที่แตกต่างได้โดยไม่สัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างอีกหลายอย่าง
ตัวอย่างง่ายๆ ที่เราทุกคนเผชิญอยู่ก็ได้ครับ วัฒนธรรมเกย์ไงครับ
เรามักจะนึกถึงความแตกต่างของเกย์เพียงด้านเดียวคือรสนิยมทางกามารมณ์ แต่จะเป็นเพราะรสนิยมนี้ ไม่เป็นที่ยอมรับหรือเพราะอะไรก็ตาม มันไปมีผลต่อระบบความสัมพันธ์ของเขากับมนุษย์คนอื่นด้วย นั่นก็คือทำให้เขาอยู่ภายใต้วัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ได้เหมือนกับคนอื่น และผมเรียกว่าวัฒนธรรมเกย์
ตราบเท่าที่เราไม่เข้าใจ หรืออย่างน้อยมีใจที่ยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมของเขา ก็ยากที่เราจะยอมรับเกย์อย่างมนุษย์ที่เท่าเทียมกับเราได้ ทำนองเดียวกับการไม่ยอมรับให้กะเหรี่ยงเป็นกะเหรี่ยง, เย้าเป็นเย้า, มลายูเป็นมลายูแหละครับ
ผลก็คือ เกย์ถูกรังเกียจ ถูกเลือกปฏิบัติ หรือแม้แต่ถูกรังแกในรูปแบบต่างๆ ไม่มีใครมีความสุขเลย เกย์ก็ไม่มี ความสุข คนอื่นก็ไม่มีความสุข (ยกเว้นนักจิตวิทยาที่หากินกับการหลอกลวงคนอื่นว่าสามารถรักษาเกย์ได้)
ถ้ามองให้กว้างไปกว่าเกย์ ยังมี "อนุวัฒนธรรม" ที่คนไทยไม่ยอมทำความเข้าใจในแง่นี้อีกเยอะแยะนะครับ ผู้ติดเชื้อ, ชาวสลัม, คนเร่ร่อน, ขอทาน, เด็กเร่ร่อน, คนติดยา, หาบเร่, ซาเล้ง, หรือแม้แต่กรรมกร, ชาวนา, พระ, วัยรุ่น, นักศึกษา, อาชีวะ, กะปี๋, โชเฟอร์สิบล้อ ฯลฯ แล้วก็ได้ผลอย่างเดียวกันกับเกย์ คือไม่มีความสุขสักฝ่ายเดียว แม้แต่จะแก้ไขอะไรที่ก่อความเดือดร้อนแก่สังคมก็ทำไม่ได้
ในปัจจุบัน ผมคิดว่ามีเพียงสองสถาบันที่ให้ความสนใจความหลากหลายทางวัฒนธรรมเช่นนี้อย่างจริงจัง
สถาบันแรก คือศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ซึ่งได้ส่งเสริมให้มีการศึกษาหรือส่งเสริมให้ผู้ศึกษาได้ เผยแพร่ความรู้เกี่ยว กับ "อนุวัฒนธรรม" เหล่านี้ ผมคิดว่าเป็นงานที่น่าสนใจ ส่วนใหญ่ล้วนเป็นงานประเภท "บุกเบิก" ที่มีนัยะสำคัญทั้งสิ้น
อีกสถาบันหนึ่งคือ "การตลาด" ของพ่อค้าครับ ความรู้เกี่ยวกับ "อนุวัฒนธรรม" เหล่านี้ ทำให้พ่อค้าวางสินค้า ได้ตรงเป้า ลงทุนกับการตลาดน้อยลงเมื่อเทียบกับผลกำไรที่ได้คืนมา สรุปง่ายๆ ก็คือ หาและมีความรู้ เพื่อเอาไปทำกำไร เพราะเป็นคุณค่าของความรู้เพียงอย่างเดียวที่พ่อค้ารู้จัก... แต่ประโยชน์ที่สังคมจะได้รับไม่มี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น